|
มาเล่น 4 นิ้วกันเถอะ โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ ในยุคแรกสุดของเครื่องเสียงรถยนต์ที่มากับรถเกือบทั้งหมดจะให้ลำโพงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางแค่ 4 นิ้ว เนื่องจากในยุคนั้นแหล่งรายการมีแค่สถานีวิทยุและเป็นเครื่องหลอดด้วย (เช่นของโมโตโรล่า ภาควิทยุ AM/FM/โมโน) จุดใหญ่คือเอาไว้ฟังข่าวมากกว่าฟังเพลง เน้นเสียงกลางขึ้นไปเรื่องทุ้มตูมๆไม่มี กำลังขับ (โมโน) ไม่ถึงห้าวัตต์ละมั้ง ต่อมายุคเครื่องทรานซิสเตอร์ วิทยุ AM/FM สตอริโอ กำลังขับก็น่าจะไม่เกิน 7 วัตต์/ข้าง ลำโพงเริ่มเขยิบมาเป็น 5 นิ้ว จนเมื่อวิทยุพัฒนาให้เล่นเทป 8 แทรคได้ (ตลับเทปใหญ่กว่าตลับเทปคาสเซทกว่า 4 เท่า พัฒนาจากระบบเทปม้วนเปิดหรือ OPEN REEL ที่ใช้ในบ้าน) นั่นแหละจึงเริ่มมีลำโพงขนาดใหญ่เป็นรูปไข่ (6x9) เพื่อให้เสียงทุ้มอิ่มลึกขึ้นแต่ก็ได้ในระดับ หนึ่งเท่านั้นเพราะวัสดุที่นำมาทำกรวยยังเป็นกระดาษง่ายๆเหมือนเดิม แม่เหล็กก็เล็กนิดเดียว เน้นที่ไม่กินวัตต์โดยยอมสูญเสียทุ้มลึก เสียงจึงดีกว่าลำโพง 4 นิ้วในอดีตไม่มากนัก ต่อมามีการนำระบบเทปคาสเซทใช้กับวิทยุติดรถและเพิ่มกำลังขับวิทยุเป็นประมาณ 25W/ข้าง (STEREO) หรือเป็น 25Wx4ch (มีชุดหน้า,หลัง) จึงเริ่มเห็นลำโพง 6 นิ้วกลม พร้อมกับลำโพงรูปไข่ 6x9 แม่เหล็กใหญ่ กรวยลำโพงกระดาษก็เริ่มมีการเคลือบเพิ่มคุณภาพเสียง การพัฒนาอย่างครบองค์ประกอบไล่ตั้งแต่ แหล่งรายการ (คือคาสเซทเทป),กำลังขับ,ดอกลำโพง ทำให้ได้สุ้มเสียงที่พูดได้เต็มปากว่าเข้าขั้น ไฮ-ไฟสเตอริโออย่างแท้จริง (ในรถ) โดยลำโพงแทบทั้งหมดจะเป็นแบบกลม 6 นิ้ว (เริ่มมีแบบแยกดอกแหลมเรียกลำโพงแยกชิ้นจากแต่เดิมมีแค่แบบรวมชิ้นหรือ COAXIAL ที่ดอกแหลมอยู่ตรงกลางดอกกลางทุ้ม) ตีคู่ไปกับลำโพงรูปไข่ 6x9 ที่มีทั้ง 2 ทางและ 3 ทางโดยส่วนใหญ่เป็นแบบรวมชิ้น (COAXIAL) ในยุคหลังๆจึงเริ่มมีแบบแยกชิ้น 2 ทางบ้าง ใน 25 ปีที่ผ่านมานี้ (เมื่อเทียบกับเครื่องเสียงรถยนต์ที่เกิดมากว่า 40 ปีแล้ว) วิทยุติดรถได้พัฒนาสู่ระบบการเล่นแผ่น CD จนท้ายสุดตัดระบบเทปคาสเซทออกไปอย่างเบ็ดเสร็จกลายเป็นวิทยุ-CD ทำให้มีความต้องการกำลังขับที่มากขึ้นเพื่อรองรับกับเสียงจากแผ่น CD ที่สวิงเสียงค่อยสุดไปดังสุดได้กว้างมากขึ้นถึง 30 % (จากประมาณ 70 d B เป็นร่วม 100 d B ) วิทยุ-CD จึงเพิ่มกำลังขับจาก 20-25 W/ch เป็น 35W/ch (อยู่ 2-3 ปี) แล้วกระโดดเป็น 40W/ch จนท้ายสุดมานิ่งที่ 50W/ch จวบจนถึงปัจจุบัน (ทรานซิสเตอร์ภาคขยายขาออกก็พัฒนาเป็น MOS FET ) มีเหมือนกันที่ใช้การทำงานภาคขยายแบบ Class T (แทนที่จะเป็น Class AB ปกติ) ทำให้ได้กำลังขับถึง 70W/ข้าง (เห็นมี 2 ยี่ห้อวิทยุ ยี่ห้อละ 1 รุ่น ออกมา 1 ปีแล้วก็หายไปเลย ไม่มีการนำ Class T มาใช้อีกเลย อาจเป็นเพราะระบบไฟรถไม่เกลี้ยงสะอาดเหมือนไฟบ้านและมีการกระเพื่อมเป็นวงกว้างมาก ระบบ Class T ที่ “เล่น” กับภาคจ่ายไฟจึงอาจทำงานสับสนจนผิดพลาดได้ (เท่าที่ผู้เขียนเคยฟังวิทยุ-CD ภาคขยาย Class T อยู่รุ่นหนึ่ง สุ้มเสียงก็พอได้ ไม่อุบาทว์หู แต่มิติเสียงสับสนมากหาความเป็นตัวตน เป็นชิ้นเป็นอัน โฟกัส อะไรไม่ได้ พูดง่ายๆไม่มีเสน่ห์) ขณะเดียวกันระบบลำโพงเองก็ถูกพัฒนาไปมาก องค์ประกอบหลักของการพัฒนาที่มีนัยสำคัญที่สุดคือ
จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะได้เห็นที่มาและที่ไปของการพัฒนาดอกและระบบลำโพง เหตุผลของคุณภาพที่ได้ ข้อจำกัดต่างๆทั้งในแง่ระบบลำโพงเองและตัวที่มาขับมัน (คือตัววิทยุ) โดยไม่พูดถึงการเพิ่มภาคขยายเสียงภายนอกเนื่องจากจะมีข้อปลีกย่อยบานปลายออกไปอีกมาก ถึงตรงนี้ เราคงเข้าใจและมองออกถึงการพัฒนาการเล่นลำโพงจากดอกกลมขนาด 4 นิ้วในอดีตจนไล่มาถึงดอกกลม 6 นิ้วในปัจจุบัน ก็แล้วทำไมผมถึงนำมาเสนอในมุมมองที่ดูเหมือนย้อนยุคกลับไปสู่อดีตอีกคือชวนกลับไปเล่น 4 นิ้ว คำว่า เล่นลำโพง 6 นิ้วหรือ 4 นิ้วผมหมายถึง เป็นลำโพงระบบ 2 ทางคือประกอบด้วยดอกเสียงแหลม 1 ดอก,ดอกเสียงกลางทุ้ม 1 ดอก (ที่ขนาด 4 นิ้วหรือ 6 นิ้วกลม) ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า ดอก 4 นิ้ว (หรือ 6 นิ้ว) นี้ เราจ่ายงานให้มันมีหน้าที่ส่งเสียงกลางสูงไล่ลงมาถึงความถี่ต่ำเรียกว่า มันทำงานเกือบจะเป็นลำโพงครอบทุกความถี่ (FULL RANGE) โดยอาศัยดอกแหลมมาต่อยอดปลายแหลมสุด (2KHz ขึ้นไป) เท่านั้น เนื่องจากการตอบสนองของดอกกลางทุ้ม ( 4 นิ้วหรือ 6 นิ้ว) ยังไปไม่ได้สูงเกิน 10 KHz – 14 KHz ขณะที่ดอกแหลมดีๆไปได้ถึง 20 KHz หรือ 35 KHz (80 KHz – 120 KHz ก็ยังมี) มันมีความจริงอยู่หนึ่งในเชิงฟิสิกส์คือกรวยยิ่งใหญ่ยิ่งขยับเข้าออกได้ไม่ฉับไว นี่เหตุผลที่ดอกลำโพงขนาด 15 นิ้วให้เสียงกลางที่อับทึบกว่าดอก 12 นิ้ว และดอก 12 นิ้วก็ยังอับทึบกว่า 10 นิ้วหรือ 8 นิ้วไล่เรียงกันลงไป และแน่นอน ดอก 6 นิ้วจะให้เสียงกลางที่เปิดโปร่งกว่าดอก 8 นิ้วอย่างค่อนข้างชัด นี่คือเหตุผลที่ดอกกลางทุ้มเรามักยอมให้ใหญ่สุดได้ไม่เกิน 6 นิ้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อเราลดขนาดดอกกลางทุ้มลงเหลือแค่ 4 นิ้ว เราพบว่าเสียงกลางจะเปิดโปร่งโล่งดีขึ้นอย่างฟังออกได้ไม่ยากเมื่อเทียบกับดอก 6 นิ้ว เสียงกลางจะสอดรับกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกับเสียงสูง (จากดอกแหลมที่ฉับไวกว่า) ในช่วงที่เสียงสลับซับซ้อน เราจะยังคงแยกแยะได้ว่าอะไรเป็นอะไร เราจะจับประเด็น อากัปกิริยาการร้อง,การเล่นของนักร้อง,นักดนตรีได้อย่างชัดแจ้งกว่า ไม่ต้องจินตนาการเอาเอง มันจะโยนความแจ่มชัดนั้นมาบรรณาการแก่เรา ต่อหน้าเรา อาการขยับปาก ขมิบปาก กระดกลิ้น การทอดถอนหายใจ การกลืนน้ำลายก่อนเผยอปากร้อง การกดลิ้นกับเพดานปากก่อนเม้มริมฝีปากหยุดร้อง การตวัดสายกีตาร์ การกรีดสายดับเบิ้ลเบสที่ตวัดปลายนิ้ว จังหวะที่ฝ่ามือตบสายเบส เสียงหางม้าที่กวาดไปบนผิวหน้ากลอง เสียงเส้นเป็นกลุ่มของหางม้าที่ถูกหวดไปบนฉาบ ฯลฯ สารพัดลีลาและหยุมหยิมที่ลำโพงกลางต้องตามลำโพงแหลมให้ทัน ให้ได้เป็นเนื้อเดียวกัน จึงจะถูกถ่ายทอดออกมาได้ จับประเด็นได้ ในอดีต ดอกกลางทุ้ม 6 นิ้วยังอุ้ยอ้ายและเฉื่อยเกินกว่าจะตามดอกแหลมทัน รายละเอียดหยุมหยิมเหล่านี้จึงหาได้ยาก ผู้ออกแบบจะแก้โดยจ่ายงานให้ดอกแหลมต้องให้เสียงลงต่ำได้ถึงขนาด 1.2 KHz ก็ยังมี แต่ก็ต้องเสี่ยงกับการพังง่ายถ้าเจอการอัดหนักๆ ขณะเดียวกัน แม้ความถี่เสียงจะลงได้แต่ดอกแหลมก็ให้การสวิงเสียงได้ไม่กว้าง (Dynamic Range) เท่าดอกกลางทุ้มเพราะสรีระของดอกแหลมเองและการใส่วงจรป้องกันดอกแหลมที่จะตัดยอดคลื่นที่สูงเกินไม่ให้เข้าดอกแหลม หรือคอยกดหรือจำกัดสัญญาณที่แรงเกินไปไม่ให้ไปถึงดอกแหลม เสียงที่ได้จึงอาจเหมือนมีครบพอควรแต่จะไม่เปิดโปร่ง ทะลุ สด มีชีวิต (Transparent หรือ Look Through) ยังเหมือนมีม่านหมอกบดบัง ขวางกั้น ไม่มากก็น้อย สังเกตว่า ลำโพงที่ตัดแบ่งความถี่อย่างนี้ (ดอกกลางทุ้มกินความถี่ได้ไม่สูงเช่น แค่ 1 KHz ,ดอกแหลมรับช่วงตั้งแต่ 1.2 KHz ขึ้นไป) ถ้าเปิดเบาๆจะพอโอเค ใช้ได้เลย แต่พอเร่งสักหน่อยจะเริ่มขุ่นขึ้น (ที่กลาง) หรือไม่ก็แหลมจะออกแจ๋นทันที นี่คือเหตุผลอย่างสำคัญที่ผมอยากเชิญชวนให้เรามาฟังดอกกลาง 4 นิ้วแทนดอก 6 นิ้ว เมื่อไรก็ตามที่เราได้ฟังระบบลำโพง 4 นิ้ว 2 ทางที่ดีๆแล้วจะแทบรับไม่ได้เลยกับระบบ 2 ทาง 6 นิ้ว (แม้จะออกแบบมาดี) ทำไมเราไม่ใช้ดอกกลางเล็กกว่า 4 นิ้วเช่น 3 นิ้วซึ่งมันน่าจะยิ่งกลืน (และตามทัน) ดอกแหลมได้ดีขึ้น ที่ไม่แนะนำให้เล่นดอกกลางต่ำกว่า 4 นิ้วเนื่องจากเสียงกลางจะเริ่มขาดมวลหรือเนื้อหนัง (Harmonics ด้านต่ำ) เสียงนักร้องจะผอมบางหรือหนุ่มกว่าตัวจริง จะไม่มีเสียงจากปอดหรือท้อง จะมีแต่เสียงจากลำคอ เสียงเครื่องดนตรีจะสเกล (ขนาด) เล็กผอมลง ขาดความอวบ,ใหญ่,อลังการ เสียงนักร้องแต่ละคนเริ่มฟังคล้ายกันไปหมด รวมทั้งเครื่องดนตรีชนิดเดียวกัน คนละยี่ห้อ (เกรด,ราคา) จะเริ่มฟังคล้ายกันไปหมด ช่วงดนตรีโหมหลายๆชิ้นพร้อมกัน นักร้องประสานเสียงจะเริ่มสับสน วุ่นวาย ไม่แยกแยะเป็นชิ้นเป็นอันอีกต่อไป การสวิงเสียงค่อยดังของแต่ละคนแต่ละชิ้น (ดนตรี) เริ่มพอๆกัน เสมอกันไปหมด ไม่มีบุคลิกของใครของมัน จริงๆแล้ว ดอกกลาง 4 นิ้วเองก็ต้องดีพอด้วย โดยต้องยังคงพอให้เสียงลงต่ำได้ถึงความถี่ 300 Hz เป็นอย่างน้อย มิเช่นนั้น มันก็ไม่ต่างจากการใช้ดอก 3 นิ้วที่จะมีปัญหาดังกล่าวแล้ว ยิ่งมันลงต่ำได้ขนาด 100 Hz ยิ่งดีมาก (แต่ดอกมักจะแพงถึงแพงมาก และกีนวัตต์สูงเอาเรื่อง) ถ้าดอกกลาง 4 นิ้วมีคุณภาพดีพอเราจะพบว่า เสียงทั้งหมดค่อนข้างครบ ความอบอุ่น โรแมนติกผ่อนคลายยังพอมี (พวกนี้อาศัยการลงความถี่ต่ำได้มากพอ) นอกจากช่วงต่ำมากคืออาจไม่ได้น้ำหนักเสียง การทิ้งตัวลงพื้นของเสียงต่ำ แรงกระทุ้งกระแทก พลังปะทะ ซึ่งตรงนี้คงต้องอาศัยระบบไบ-แอมป์ (ซับวูฟเฟอร์) มาช่วย (ดอกซับอย่าเกิน 10 นิ้ว 6-8 นิ้วยิ่งดีใหญ่) การยก EQ ช่วย ดอก 4 นิ้วจะรับไม่ไหว นี่คือบทสรุปถึงเหตุผลที่น่าเล่นดอกกลางขนาดแค่ 4 นิ้วพอ (กับระบบไบ-แอมป์) อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการติดตั้งที่เป็นงานและถูกต้องด้วยถ้าติดชุ่ยๆเช่น ติดดอกแหลมหนีห่างดอกกลาง อย่างนี้ก็ถือว่าผิกกติกาไม่อยู่ในประเด็นที่ผมพูดมาทั้งหมด โชคดีที่ปัจจุบัน ดอกกลางทุ้ม 6 นิ้วทำได้ดีขึ้นมากจนมันตอบสนองความถี่จากเดิมแค่ 1-2 KHz ก็พุ่งไปถึง 10 KHz - 12 KHz ทำให้เสียงกลางเปิดโปร่งทะลุขึ้นมาก ขณะที่ยังให้ทุ้มที่อิ่มแน่น มีเนื้อหนังกว่าดอก 4 นิ้วแน่นอน ไม่ต้องวุ่นวายเล่นระบบไบ-แอมป์ก็ได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าฟังกันจริงๆจังๆมันก็ยังไม่โปร่งทะลุ พลิ้วเท่าดอก 4 นิ้วอยู่ดี เอาเป็นว่า ถ้าไม่คิดวุ่นวาย ไม่มีงบมาก อยากจบง่ายๆไม่ใช่นักฟังหูทอง ระบบลำโพง 6 นิ้ว 2 ทางดีๆ (ไม่จำเป็นต้องแพงจัด) ก็สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างดี แต่ถ้าต้องการอะไรที่สุดยอด มีงบพอควร (ก็ไม่ใช่เป็นหลักแสน) การเล่น 4 นิ้ว + ไบ-แอมป์ ติดตั้งสุดๆ จะพาคุณหลุดสู่โลกแห่งเสียงอย่างที่คุณคาดไม่ถึงและไม่คิดกลับไปสู่สิ่งที่ด้อยกว่าอีกต่อไป www.maitreeav.com |